พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยที่ประสบภัยแล้งในปี 2560 เนื่องจากเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เกษตรกรมีความต้องการปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพที่ยั่งยืนและมั่นคง แต่ไม่มีเงินทุนและโอกาส อีกทั้งสถานการณ์ตลาดโคเนื้อในประเทศไทยมีจำนวนโคเนื้อลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีจำนวนโคเนื้อลดลงจาก 8 ล้านตัว เหลือเพียง 4.8 ล้านตัว

 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการ “โคบาลบูรพา”เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ “โคบาลบูรพา” ที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่เหมาะสม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก ลดการนำเข้าเนื้อสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย และสร้างโอกาสในการผลิตเนื้อโคส่งออกตลาด AEC ในอนาคตต่อไป ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2560 – 2565) งบประมาณรวม 970.5 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก โดยอุดหนุนแม่โคเนื้อให้เกษตรกร 6,000 ราย รายละ 5 ตัว รวมแม่โคเนื้อ 30,000 ตัว โดยดำเนินงานในลักษณะของธนาคารโคเนื้อ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องส่งลูกโคเพศเมียอายุ 12 เดือน จำนวน 5 ตัวแรกของฝูงคืนให้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางประชารัฐ (ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ) เพื่อนำไปขยายผลช่วยเหลือเกษตรกรรายใหม่ยืมไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

กิจกรรมที่ 2 ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ เพื่อส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง โดยปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมหรือให้ผลผลิตต่ำมาเลี้ยงแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งและอากาศร้อนได้ดี เลี้ยงง่าย มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว โดยอุดหนุนพันธุ์แพะเนื้อให้เกษตรกร 100 รายๆ ละ 32 ตัว (เพศเมีย 30 ตัว และเพศผู้ 2 ตัว) รวมแพะเนื้อ 3,200 ตัว และดำเนินงานในลักษณะของธนาคารแพะ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องส่งลูกแพะเพศเมียอายุ 6 เดือน จำนวน 32 ตัวแรกของฝูงคืนให้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางประชารัฐ (ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ) เพื่อนำไปขยายผลช่วยเหลือเกษตรกรรายใหม่ยืมไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล

กิจกรรมที่ 3 ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงโคเนื้อและแพะ จะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำการปลูกพืชอื่น มาปลูกพืชอาหารสัตว์ จำนวนไม่น้อยกว่า 30,300 ไร่ (เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก 6,000 ราย รายละ 5 ไร่ รวมพื้นที่ 30,000 ไร่ และเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ 100 ราย รายละ 3 ไร่ รวมพื้นที่ 300 ไร่) ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเร่งรัดเตรียมการด้านพืชอาหารสัตว์ให้ทันและพร้อมรองรับโค/แพะที่จะจัดซื้อและส่งมอบในระยะถัดไป

กิจกรรมที่ 4 ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่/จัดตั้งสหกรณ์ “โคบาลบูรพา”เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่

ทั้งนี้ โครงการนี้ฯ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในจังหวัดสระแก้วได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูโดยการเปลี่ยนอาชีพทางการเกษตรอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงปศุสัตว์ ให้สามารถประกอบอาชีพปศุสัตว์โดยมีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการส่งเสริมโคเนื้อบางโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากต้นทุนค่าพันธุ์สัตว์สูงต้องนำเข้าพันธุ์โคจากต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรยังไม่มีความพร้อมในเรื่องการปลูกพืชอาหารสัตว์ การดำเนินการในครั้งนี้กรมปศุสัตว์จะดำเนินการการจัดหาสัตว์ ตามระเบียบฯ กฎหมายและหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและโปร่งใส และได้มีการเตรียมความพร้อมเกษตรกรทั้งด้านโรงเรือน พืชอาหารสัตว์ ก่อนส่งมอบให้เกษตรกรในพื้นที่

ท้ายนี้ “พลเอกฉัตรชัย” เน้นย้ำว่าการเพิ่มแม่โคเนื้อพันธุ์ดีกว่า 120,000 ตัว ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นจะเป็นการนำร่อง และเพิ่มฐานการผลิตโคเนื้อเข้าสู่ระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อของภาคตะวันออก เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา และประเทศลาวและสู่อาเซียนในอนาคตต่อไป


ที่มาของข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/2722-111-2560

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์