อัลฟัลฟ่า (Medicago sativa) เป็นพืชอาหารสัตว์ตระกูลถั่วที่มีโปรตีนและวิตามินสูง จัดเป็นพืชอาหารสัตว์ที่ดีที่สุด จนถูกขนานว่า ราชินีแห่งพืชอาหารสัตว์ (Queen of forage)

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์ จัดงาน“อัลฟัลฟาเดย์” งานแสดงความก้าวหน้าด้านอาหารสัตว์สําหรับอนาคต (“Alfalfa Day” Alfalfa-Feed for the Future) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงทางอาหารสัตว์ของประเทศ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ โดยสํานักพัฒนาอาหารสัตว์ได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านพืช อาหารสัตว์ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดการอาหารสัตว์ ให้มีความ เหมาะสมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

ในงานนี้ ได้จัดให้มีนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับพืชอาหารสัตว์พันธุ์ต่างๆ เช่น หญ้าแพงโกลา หญ้าเนเปียร์ ถั่วลิสงเถาฟลอริเกรซ รวมทั้งการถนอมพืชอาหารสัตว์ในรูปหมักและแห้ง เช่น ต้นข้าวโพดพร้อมฝักหมัก กระถินหมัก ใบรวมยอดและหัวมันสำปะหลังหมัก หญ้าแพงโกลาแห้ง เป็นต้น ทั้งยังได้จัดแสดงถั่วอัลฟัลฟา พืชอาหารสัตว์ในอนาคตที่มีคุณค่าสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพน้ำนม เนื่องจากถั่วอัลฟัลฟามีโปรตีนและเยื่อใยที่สัตว์สามารถย่อยได้สูงสุดเมื่อเทียบกับพืชอาหารสัตว์อื่นๆ โดยมีการพิสูจน์และยืนยันทางด้านวิทยาศาสตร์ว่าถั่วอัลฟัลฟาส่งผลทางบวกต่อการเพิ่มผลผลิตน้ำนม โปรตีนในน้ำนมและสุขภาพโดยรวมของโคนม ถั่วอัลฟัลฟาเหมาะสำหรับนำไปผสมร่วมกับต้นข้าวโพดพร้อมฝัก ในรูปของอาหารผสมเสร็จ (TMR) ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการศึกษาการเขตกรรมของถั่วอัลฟัลฟาสายพันธุ์ Neo-Tachiwakaba ซึ่งเป็นพันธุ์ที่น่าจะมีศักยภาพสูง และมีความเหมาะสมกับหลายๆพื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น คาดว่าอีก 1-2 ปี จะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ต่อไป

ด้วยคุณสมบัติดีเด่นต่างๆ ทำให้ ถั่วอัลฟัลฟา เป็นพืชอาหารสัตว์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในหลายๆประเทศ เนื่องจากสัตว์ชอบกิน ทั้งนี้นอกจากใช้เลี้ยงโคนมแล้ว ยังสามารถใช้เลี้ยงสัตว์อื่นๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ม้า สุกร ไก่ กระต่าย เป็นต้น

เกษตรกรผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ใกล้บ้านท่าน หรือ โทร 02-501-1147

------------------------------------------

ที่มาของข้อมูล : สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์

เว็บไซต์สำนักงานเลขานุการกรม http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/2803-126-2560