กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ย้ำให้สังเกตอาการในสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพราะอากาศแปรปรวนอาจทำให้สัตว์เกิดโรคต่างๆได้ง่าย พร้อมเร่งดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ มีความห่วงใยสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากสภาพอากาศที่บางวันมีแดด และฝนตกหนัก ปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้อาจเกิดความเครียดและอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยโรคสัตว์ที่อาจจะพบได้ในช่วงหน้าฝน ได้แก่

         โค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสียจากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง สำหรับโรคระบาดสัตว์ที่ควรเฝ้าระวัง เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกชนิดโดยสัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำลายยืด เป็นแผลที่ปากและกีบ นอกจากนี้ยังมีโรคคอบวมที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในกระบือและโค สัตว์ที่ป่วยจะตายเฉียบพลันซึ่งทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู สัตว์ติดเชื้อได้จากการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนในดินหรือน้ำและเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกตา จมูกและปาก โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีไข้ สัตว์ตั้งท้องอาจแท้งได้ มีอาการดีซ่านรวมทั้งปัสสาวะมีสีแดง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน

         สุกร ต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งสุกรที่ป่วยจะแสดงอาการเป็นไข้ มีแผลที่จมูกและกีบ เจ็บขา ส่วนโรคพีอาร์อาร์เอส จะพบสุกรแสดงอาการ ซึม เบื่ออาหาร รวมทั้งแสดงอาการแท้งได้ด้วย

         สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก อาการที่พบได้ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหล

         ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องดูแล ให้ความสำคัญกับการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม ทำวัคซีนตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย

         นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน และมาตรการป้องกันโรคของสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดด้วย

         ท้ายที่สุดนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของท่าน หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหากเกษตรกรต้องการขอรับการสนับสนุนพืชอาหารสัตว์จากกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้านท่าน ด้วยความปรารถนาดีจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                                                ------------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์