กรมปศุสัตว์เดินหน้าจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ระดับอำเภอ จำนวน 20 อำเภอ ภายในปี 2561 เพื่อให้บริการด้านสุขภาพสัตว์ของประชาชนในส่วนภูมิภาค เป็นการรองรับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยวางเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 20 อำเภอ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานบริการด้านสุขภาพสัตว์ของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเป็นการเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดทั้งในสัตว์ และโรคสัตว์สู่คนได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

         นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สถานพยาบาลสัตว์ที่กรมปศุสัตว์จัดตั้งขึ้นนี้ ได้มุ่งเน้นการให้บริการแก่สัตว์ที่ถูกทารุณกรรม สัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ สัตว์ป่วย สัตว์พิการ สัตว์ตั้งท้องหรือลูกอ่อน ลูกสัตว์ สัตว์ที่เป็นโรคผิวหนัง (โรคเรื้อน) และสัตว์ที่อยู่ในการดูแลขององค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน เป็นต้น

        กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ความรับผิดชอบงานด้านสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคสัตว์ตามพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น ทำให้กรมปศุสัตว์มีบทบาท ภารกิจด้านบริการสุขภาพสัตว์เพิ่มขึ้น ในด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ที่ถูกทารุณกรรม และถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ต้องให้การสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์และสถานสงเคราะห์สัตว์ ด้านสุขภาพสัตว์ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ อีกด้วย

        นายสัตวแพทย์สรวิศฯ กล่าวว่า ในปี 2561 กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ระดับอำเภอแล้ว จำนวน 20 แห่ง ได้แก่ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อำเภอสันป่าตอง อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายสัตวแพทย์สรวิศฯ กล่าวในที่สุด

                                    **********************************

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์