25610918 1

กรมปศุสัตว์เน้นย้ำประชาชนอย่าบริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ได้ถูกฆ่า เพราะไม่ปลอดภัย เสี่ยงติดเชื้อโรคและสารตกค้าง เตือนผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มิได้รับรองจากพนักงานตรวจโรคสัตว์ มีความผิดตามพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์พ.ศ. 2559 แนะนำเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ที่ผ่านการฆ่าและชำแหละมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีพนักงานตรวจโรคสัตว์ ให้การรับรองเนื้อสัตว์เพื่อการจำหน่าย จะมีความปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้ชำแหละซากโคที่ป่วยตายแล้ว นำเนื้อไปบริโภคเป็นอาหาร หรือนำมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นโคที่ป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า นั้น กรมปศุสัตว์ขอแจ้งเตือนประชาชน ให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ผ่านการฆ่าชำแหละมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีพนักงานตรวจโรคสัตว์ทำหน้าที่ตรวจสัตว์มีชีวิตก่อนฆ่า ตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงให้การรับรองเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองให้จำหน่ายมีความปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนอย่าชำแหละซากสัตว์ที่ป่วยตาย และห้ามนำเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายมาบริโภคหรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส โรคไข้หูดับ เป็นต้น สำหรับผู้ชำแหละและผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์โดยมิได้ถูกฆ่า จะมีความผิดตามมาตรา 36 37 และ 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 กล่าวคือ

  • นำสัตว์ที่ตายโดยไม่ได้ถูกฆ่าไปชำแหละเอง โดยไม่ได้ให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ตรวจ มีโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ตามมาตรา 60 คือ โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศ ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกิน 1 พันบาท และสัตว์อื่น ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท
  • นำเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการตรวจโรคสัตว์โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์มาชำแหละและตัดแต่งหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่พนักงานตรวจโรคสัตว์ไม่ได้รับรอง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการฆ่าสัตว์และการขนส่งเนื้อสัตว์ รวมถึงการชำแหละและตัดแต่งเนื้อสัตว์เพื่อการจำหน่ายให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น “DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที

-------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล/ผู้เรียบเรียง : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ (วันที่ 18 กันยายน 2561)