99604

ในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฆ่าสัตว์ ในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบการกระทำความผิดมีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงได้ทำการเข้าจับกุมพร้อมยึดของกลางเป็นซากสัตว์ และวัสดุอุปกรณ์ในการฆ่าสัตว์จำนวนมาก

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 17.30 น. หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายปศุสัตว์ โดย สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 กองสารวัตรและกักกัน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี ด่านกักกันสัตว์สุพรรณบุรี ด่านกักกันสัตว์พระนครศรีอยุธยา ด่านกักกันสัตว์สระบุรี ด่านกักกันสัตว์ชัยนาท ด่านกักกันสัตว์ลพบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฆ่าสัตว์ ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำนวน 6 แห่ง (โรงฆ่าโค 1 แห่ง และไก่ 5 แห่ง) ตามที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต

ผลการตรวจค้นพบว่ามีการกระทำความผิด 3 ราย จึงได้จับกุมผู้กระทำความผิด ทั้ง 3 ราย พร้อมยึดของกลางเป็นซากโคชำแหละ 307 กิโลกรัม ซากไก่ชำแหละ 871.9 กิโลกรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่า จำนวน 16 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 105,726 บาท เพื่อส่งดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยแจ้งข้อกล่าวหา

  • ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษตามมาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์โดยมิได้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า แหล่งที่มาของสัตว์ที่จะฆ่า วัน เวลาที่จะฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 60 ระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ดังต่อไปนี้
  1. โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกินห้าหมื่นบาท
  2. แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท
  3. ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกินหนึ่งพันบาท
  4. สัตว์อื่น ตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท

- ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 63 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การดำเนินการเข้าตรวจค้นจับกุมการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายครั้งนี้ เป็นนโยบายสำคัญของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ได้จากการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เนื้อสัตว์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคระบาดติดต่อไปยังผู้บริโภคได้ เช่น โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (salmonellosis) โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้การไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ที่นำมาฆ่า อาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบากสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza : AI) กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับให้โรงฆ่าสัตว์มีมาตรฐานเดียวกัน สร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

ท้ายที่สุดนี้  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียนผู้กระทำความผิดกฎหมาย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด หรือต้องการร้องเรียนผู้กระทำผิดกฎหมาย ติดต่อกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์โทรศัพท์ 0-2501-3473-5

99570.jpg 99575.jpg 99577.jpg

99578.jpg 99594.jpg 99597.jpg

99601.jpg 99603.jpg 99604.jpg

99605.jpg

ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์