pic01

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการะทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพภูมิอากาศประเทศไทย ในช่วงวันที่ 4 - 7 เมษายน 2565 พบว่ามีอิทธิพลของลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยสถานการณ์ล่าสุดที่อำเภอสิชล อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดน้ำป่าไหลหลากและท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็วและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดนั้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในการรับมือ เฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือทันที แจ้งไปยังศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) และหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อลงพื้นที่ สำรวจและติดตามสถานการณ์พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงทันที ทั้งด้านเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์ แต่งตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเน้นย้ำเสบียงอาหารสัตว์ให้มีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันมีเสบียงอาหารสัตว์หญ้าแห้งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทั่วประเทศสำรองไว้ 5,388,600 กิโลกรัม หรือ 269,430 ฟ่อน สามารถช่วยเหลือสัตว์ได้จำนวน 115,459 ตัวใน 7 วัน (หญ้าแห้ง 1 ฟ่อน ช่วยวัว-ควาย 1 ตัวต่อ 3 วัน และช่วยแพะ-แกะ 10 ตัวต่อ 3 วัน) โดยสำรองไว้ที่ศูนย์ฯ ภาคใต้จำนวน 2,433,200 กิโลกรัม โดยล่าสุดวันที่ 6 เมษายน 2565 กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถวายงานมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ตำบลทุ่งปรัง และตำบลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 400 ก้อน เกษตรกรจำนวน 65 ราย และช่วยเหลือโค-กระบือที่ได้รับผลกระทบจำนวน 449 ตัว และแพะ-แกะ จำนวน 137 ตัว นอกจากนี้ได้มอบเวชภัณฑ์ให้เกษตรกรจำนวน 50 ชุด

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้รายงานผลสรุปสถานการณ์ประจำวันในไลน์กลุ่ม DLD disaster จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ พื้นที่จังหวัดใดมีสถานการณ์น้ำท่วม และหน่วยงานได้ดำเนินการช่วยเหลือฯ ให้รายงานตามแบบฟอร์มและช่องทางการรายงานที่กำหนด พื้นที่ใดที่ต้องการขอสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์เพิ่มเติม นอกเหนือจากโควตาที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว ให้ประสานกับศูนย์วิจัยฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ ซึ่งเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ได้ทันที พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534553, 02-6534444 ต่อ 3315 หรือ อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง


pic01.jpg pic02.jpg pic03.jpg

pic04.jpg pic05.jpg

ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์  ข่าวปศุสัตว์