S 8318329951758

วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาสุกร ตามมติที่ประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทเกี่ยวข้องกับวงจรการเลี้ยงสุกร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัทผู้ผลิตสุกร สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เป็นต้น ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมปศุสัตว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรตลอดวงจรการผลิต

 

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงนโยบายการดำเนินงานของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ เต็มรูปแบบ เพื่อให้การแข่งขันทางการตลาดเป็นไปด้วยความถูกต้องและยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งชี้แจงความคืบหน้าด้านการจัดทำระบบ compartmentalization ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยเพื่อการส่งออก การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อีกทั้งได้มีหัวข้อพิจารณา จากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 22-3/2561 เพื่อหาความคิดเห็น และข้อสรุปจากภาคเอกชน ดังต่อไปนี้

  • การลดราคาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์จะมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังสมาคม เพื่อให้ทางสมาคมพิจารณา
  • การลดรอบการผลิตของสุกร ให้เหลือ 5 รุ่นต่อ 1 แม่ ซึ่งทางที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ควรเพิ่มเงื่อนไขให้กับผู้ที่ต้องการขยายกำลังการผลิต หาตลาดต่างประเทศ หรือชะลอการเพิ่มกำลังการผลิตแทน
  • การขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรขุน และสุกรพันธุ์
  • การร่วมกำหนดปริมาณผลผลิต โดยใช้แนวทางตลาดนำการผลิต
  • การดำเนินการสถานที่จำหน่ายให้สะอาด ปลอดภัย โดยใช้หลักการปศุสัตว์โอเค
  • การจำหน่ายสุกรในกรอบราคาที่สะท้อนต้นทุนการผลิต
  • ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกรไทย ซึ่งเสนอโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

เนื่องด้วยอาหารสัตว์ เป็นต้นทุนหลักในการผลิตสุกรขุน กรมปศุสัตว์ได้มีแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยสูตรอาหารสุกรแก้จน ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งมีการนำเสนอโดยผู้แทนจากสำนักพัฒนาอาหารสัตว์อีกด้วย

S_8318329951758.jpg S_8318330055766.jpg S_8318330111896.jpg

S_8318330211897.jpg S_8318330320363.jpg
ที่มาของข้อมูล : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร