25630908 2

วันที่ 8 กันยายน 2563 เวลา 9.30 น.
     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาและการใช้ยาสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 1/2563 พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กองแผนงาน สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

     1. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาและการใช้ยาสมเหตุผลในสัตว์ และคณะทำงานชุดเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในสัตว์ทางห้องปฏิบัติการ
     2. สรุปสาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 ที่เกี่ยวข้องกับภาคปศุสัตว์
     - ผลกระทบจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพต่อภาคเศรษฐกิจและการส่งออกสินค้าเกษตร โดยในปี 2562 สินค้าปศุสัตว์มีมูลค่าการส่งออก 116,899 ล้านบาท ปริมาณรวม 984,788 ตัน หากพบว่าสินค้าที่ส่งออกมีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาหรือมียาต้านจุลชีพตกค้าง จะถูกประเทศคู่ค้าส่งกลับทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
     - รายงานการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ปริมาณการบริโภคยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 6.4 ในปี 2561 เทียบกับปี 2560 โดยแนวโน้มที่ลดลงอาจเกิดจากการใช้ยาในสัตว์ที่ลดลงหรือประชากรสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
     - ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ที่มีการนำไปใช้ในสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นยาต้านจุลชีพที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้สำหรับมนุษย์ เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าและบางชนิดยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สำหรับสัตว์
     3. ความก้าวหน้าระยะครึ่งแผน (พ.ศ. 2560-2562) ของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง มีแนวทางในอนาคต คือ การขยายการเลี้ยงสัตว์ที่ลดการใช้ยาและปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะให้มีจำนวนฟาร์มที่เพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศ การพัฒนาและปรับปรุงระบบเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคเกษตร และเร่งศึกษาวิจัยหาทางเลือกเพื่อทดแทนและลดการใช้ยาต้านจุลชีพให้แก่เกษตรกร
     4. กิจกรรมที่สำคัญและผลการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวกับการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้แก่ พัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาตามวิธีสากล OIE และพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการในการตรวจวิเคราะห์เชื้อดื้อยา พัฒนาการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพ พัฒนามาตรการทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการลดการใช้ยาต้านจุลชีพ
     5. รายงานผลวิเคราะห์เชื้อดื้อยาและปริมาณการบริโภคยาในสัตว์ ปี 2562
     6. Framework and Roadmap for surveillance of antimicrobial resistance in Food Animal ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว การจัดทำกรอบการทำงานในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนการดื้อยาต้านจุลชีพรวมถึงสารตกค้างในคน ปศุสัตว์ ประมง และสิ่งแวดล้อม
     7. โครงการวิจัย “การสำรวจความชุกของเชื้อ ESBL-producing E.coli ที่แยกได้จากคน ห่วงโซ่อาหาร และสิ่งแวดล้อม”
      ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม) สำหรับในภาคปศุสัตว์คือ การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และควบคุมดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง มุ่งเป้าประสงค์ให้ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลงอย่างน้อย 30% โดยกรมปศุสัตว์จะมีการจัดงาน World Antibiotic Awareness Week (WAAW) 2020 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างความตระหนักต่อเรื่องเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Handing antimicrobials with care: Roles of private sector under One Health approach” ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดการจัดงานต่อไป
     ณ ห้องประชุม 2 ตึกชัยอัศวรักษ์ กรมปศุสัตว์ อ่านรายละเอียด