2563 11 18 01
         
          วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30 น. นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “เทคโนโลยีการตรวจเนื้อสัตว์” สำหรับนายสัตวแพทย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก โดยมีนายสัตวแพทย์อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวให้โอวาท และนายสัตวแพทย์อนุชา มุมอ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สพส. กล่าวรายงาน พร้อมผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 90 คน แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมอบรมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 50 คน และผู้เข้าร่วมอบรม ณ สถานที่ฝึกอบรม จำนวน 40 คน ซึ่งได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) พร้อมกับเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ในระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2564 ณ เดอะไพรเวซี่ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ได้รับการรับรอง SHA) 
          นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การฝึกอบรมหลักสูตร “เทคโนโลยีการตรวจเนื้อสัตว์” สำหรับนายสัตวแพทย์ เป็นหลักสูตรให้ความรู้ ความเข้าใจในการควบคุมคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายอาหารปลอดภัยของรัฐบาล สร้างความมั่นใจในกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสินค้าเนื้อสัตว์ของไทย ให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก ส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร และนำรายได้เข้าประเทศตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          โครงการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาการปศุสัตว์ให้เป็นผู้รู้คิด รู้รอบ สั่งสมความเชี่ยวชาญในอาชีพ และมีศักยภาพที่พร้อมรับกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแข็งแกร่ง เพื่อก้าวเข้าสู่การยกระดับคุณภาพ การบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศและเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้กรมปศุสัตว์ไทยสามารถแข่งขันได้อย่างไร้ขีดจำกัดในเวทีโลก ผ่านการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ พ.ศ. 2561 – 2565 ซึ่งภาคการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ถือเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรและประเทศไทยที่กรมปศุสัตว์ต้องส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ต่าง ๆ ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ไปจนถึงการขยายธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารของผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ซึ่งการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน จะต้องมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าและตามมาตรฐานสากล โดยแต่ละประเทศจะมีการกำหนดมาตรฐานที่สูงและมีการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดอยู่เสมอ เพื่อปกป้องและรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศของตน ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดโลก 
          "การฝึกอบรมในครั้งนี้ มีหัวข้อบรรยายให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมอบรม ได้แก่ หลักการป้องกันอาหารปลอม (Food Frauds) ทางด้านสัตวแพทย์  หลักการป้องกันภัยคุกคามทางอาหาร (Food Defense) ทางด้านสัตวแพทย์  นโยบายและแนวทางการปรับเปลี่ยนระบบตรวจเนื้อเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์  การเกาะติดสถานการณ์การตรวจประเมินระบบการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ของสหภาพยุโรป  การเรียนรู้กรณีศึกษาแนวทางการตัดสินสัตว์จากการตรวจสัตว์ก่อนฆ่า (Ante mortem inspection)  กรณีศึกษาและแนวทางการตัดสินซาก จากการตรวจซากสัตว์ภายหลังฆ่า (Post mortem inspection)  กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ  ระบบการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมภายในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก  และกิจกรรมอภิปรายกลุ่ม กรณีศึกษาในการใช้เทคนิคการตรวจโรงงาน สำหรับสินค้าปศุสัตว์ใหม่ (Novel food) ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของกรมปศุสัตว์ ที่จะได้รับทราบ ปรับตัว และก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเพื่อให้ประเทศยังสามารถคงสถานการณ์ เป็นผู้ส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อันดับต้น ๆ ของโลก และรักษามาตรฐานการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า และสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อไป” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ภาพ มนัสยา ทัดทอง  /ข่าว วรรณกร ชัยรัตน์ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  สลก.
2563_11_18_01.jpg 2563_11_18_02.jpg 2563_11_18_03.jpg

2563_11_18_04.jpg 2563_11_18_07.jpg 2563_11_18_09.jpg

2563_11_18_11.jpg 2563_11_18_12.jpg 2563_11_18_13.jpg

2563_11_18_14.jpg 2563_11_18_15.jpg 2563_11_18_16.jpg

2563_11_18_17.jpg 2563_11_18_19.jpg 2563_11_18_20.jpg

2563_11_18_27.jpg 2563_11_18_31.jpg 2563_11_18_41.jpg

2563_11_18_43.jpg 2563_11_18_44.jpg