2565 01 26c 001รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 4

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม วันพุธที่ 26 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุม 134-135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ว่า สุกรมีอาการ ไข้สูง นอนสุมกัน ร่วมกับท้องเสียเป็นเลือด หรือผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำโดยเฉพาะใบหู ท้อง มีอาการไอ แท้งลูกหรือขาหลังไม่มีแรง ลักษณะโรคและความร้ายแรงของโรค ASF ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียารักษา เชื้อคงทนในสิ่งแวดล้อมหลายปี โอกาสตายสูงและเป็นพาหะได้ตลอดชีวิต การติดต่อของโรคจากการสัมผัสโดยตรง รถขนส่งและอุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อ แต่ไม่ติดต่อสู่คน มีรายงานการเกิดโรคในสุกรทั่วโลกพบทั้งหมด 4 ทวีป ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม 41 ประเทศทั้งประเทศไทย ส่วนรายงานการเกิดโรคในทวีปเอเชียพบทั้งหมดมี 16 ประเทศ
ซึ่งมีแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรรายย่อย - เล็ก โดยใช้ 3S คือ Scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pig Sandbox) Screen คน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อม และเหมาะสม และ Support อุดหนุน ช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน โดยให้คำแนะนำ / อบรม ในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GFM/GAP โดยมีการอบรมเกษตรกร สนับสนุน/อุดหนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน/แม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร สนับสนุนการจัดทำ / ปรับปรุงฟาร์มภายใต้ระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกรสู่ระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management: GFM) จ้างเหมาบริการอาสาปศุสัตว์ช่วยงานสัตวแพทย์ จำนวน 1,764 คนๆ ละ 7 เดือน (ก.พ.-ก.ย.) สนับสนุนแหล่งทุนโดย ธ.ก.ส. วงเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม
“หลักเกณฑ์การนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่ โดยองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของฟาร์ม มีรั้วรอบขอบชิด มีระบบทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์ม มีบริเวณขายสุกรนอกบริเวณการเลี้ยง มีคอกกักก่อนรวมฝูง มีระบบการป้องกันสัตว์พาหะอย่างมีประสิทธิภาพในโรงเรือน ที่สำคัญต้องมีการประเมินความเสี่ยงก่อนการอนุญาตให้นำสุกรเข้ามาเลี้ยง ฟาร์มที่เคยพบโรค หรือฟาร์มที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับฟาร์มที่พบโรคต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 80 คะแนน และฟาร์มอื่นๆ ต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 60 คะแนน” อธิบดีกล่าว
***************************************

2565_01_26c_001.jpg 2565_01_26c_002.jpg 2565_01_26c_003.jpg

2565_01_26c_004.jpg 2565_01_26c_005.jpg 2565_01_26c_006.jpg

2565_01_26c_007.jpg 2565_01_26c_008.jpg 2565_01_26c_009.jpg

2565_01_26c_010.jpg 2565_01_26c_011.jpg 2565_01_26c_012.jpg

2565_01_26c_013.jpg 2565_01_26c_014.jpg


ภาพ/ข่าว : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม