02

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก ผ่านการประชุมทางไกล (Zoom meeting) โดยได้รับเกียรติจากนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนารวมกว่า 120 ท่าน ทั้งนี้ในการสัมมนาฯ ดังกล่าวมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมปศุสัตว์ คือ นางสาวจันทกานต์ อรณนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์อาหาร สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เข้าร่วมสัมมนา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมวิชาการเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อปตำบลหัวลำ นายกสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

สัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเฉพาะโคเนื้อ และโคนม นับได้ว่ามีบทบาทและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โคเนื้อ และโคนม มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารมีมากขึ้น ทำให้ปริมาณหญ้าสดและอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องไม่เพียงพอกับความต้องการ เกษตรกรต้องประสบปัญหาการขาดแคลนหญ้าสดและอาหารหยาบที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งจะมีปัญหาขาดแคลนอาหารหยาบมากกว่าฤดูอื่นๆ การตัดพืชหรือหญ้ามาตากให้แห้งเพื่อทำเป็นอาหารแห้งเก็บไว้ใช้เป็นอาหารหยาบในฤดูแล้งมักจะเกิดปัญหาการเน่าเสียและเกิดการขึ้นรา เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการเก็บรักษาต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้กลายเป็นปัญหาที่เกษตรลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ดังนั้นข้าวโพดหมัก (corn silage) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของอาหารหยาบที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีคุณภาพ เนื่องจากกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถย่อยได้ง่าย มีโปรตีนและคุณค่าทางโภชนะสูง เก็บรักษาง่าย สามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ เช่น ไม่สิ้นเปลืองแรงงานและต้นทุนในการเก็บรักษา เป็นอาหารหยาบที่มีคุณภาพดีเหมาะสมสำหรับการนำมาเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง และทำให้สัตว์เลี้ยงมีความสมบูรณ์ สุขภาพดี มีอัตราการเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตที่สูงขึ้น

สำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก (corn silage) ให้มีคุณภาพดีนั้น ต้องเริ่มจากการมีวัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพดี ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก ฉบับนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานของประเทศไทย รวมทั้งเป็นข้อปฏิบัติให้เกษตรกรใช้เป็นแนวทางและส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดสำหรับหมักได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ต้นข้าวโพดที่มีคุณลักษณะและมีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นข้าวโพดหมัก (corn silage) ที่มีคุณภาพต่อไป

ในการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งนี้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องตามแนวปฏิบัติเป้นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป

01.jpg 02.jpg 03.jpg

04.jpg 05.jpg

ภาพข่าว / กลุ่มเผยแพร่ฯ / สลก.